วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556


อุดมการณ์ทางการเมือง
(Political Ideology)

อุดมการณ์ทางการเมือง หมายความถึงประมวลความเชื่อทางการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์และวิธีการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ทางการเมืองที่กำหนดความแตกต่างในการนำอุดมการณ์ทางการเมืองไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการเราสามารถแยกแยะอุดมการณ์ทางการเมืองได้ดังนี้ ประการแรก อุดมการณ์ทางการเมืองอาจประกอบด้วยความเชื่อของปัจเจกหรือกลุ่มชนที่ไม่จำกัดขนาด  ประการที่สอง จากความเชื่ออาจจะแสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ทางการเมืองมีลักษณะที่เป็นไปได้ทั้งสูงและต่ำในการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับ ความชัดเจน การประสมประสาน ความร่วมมือ ในมิติต่างๆ ในสังคม และประการที่สาม อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นแนวคิดที่นำไปประยุกต์ใช้กับชุดของความเชื่อ ชุดของความเชื่อทางการเมืองเหล่านั้นจะพบในลัทธินิยมทางการเมือง (Isms) หลากหลาย
ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ให้ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมืองไว้ว่า เน้นถึงเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การแพร่ขยายของอุดมการณ์ทางการเมือง จะได้รับการตอบสนองของกลุ่มชนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสังคม อันได้แก่บุคลิกภาพ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม รวมทั้งความเชื่อถือดั้งเดิมโดยทั่วไปของคนในกลุ่ม  แนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองอาจพิจารณาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้หลายประการเช่น ใช้เพื่อการรวมกลุ่มและการปกครอง ใช้เพื่อความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของชนชั้นผู้นำทางการเมืองหรือแม้แต่การขยายการใช้อำนาจของรัฐบาล เราอาจกำหนดประเภทของอุดมการณ์ทางการเมืองได้ดังนี้



1 อนุรักษ์นิยม (conservatism)  ลักษณะของอนุรักษ์นิยมคือพยายามที่จะป้องกันหรือลดความเร็วของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่า ความเชื่อเก่า ชั้นทางสังคมเก่า ไปสู่สังคมใหม่ อนุรักษ์นิยมเชื่อว่า ปัจเจกมีความไม่คงเส้นคงวาในการใช้เหตุผล (Consistently rational) เป็นเพราะคนมีอารมณ์ซึ่งบางครั้งอยู่เหนือเหตุผล เป็นเหตุให้การตัดสินใจของคนอาจไม่เป็นที่ยอมรับว่ามีเหตุผลเสมอไปอีกประการหนึ่งพวก   อนุรักษ์นิยมเชื่อว่า ปัจเจก ได้รับการถ่ายทอดความฉลาด ความชำนาญ และแม้แต่สถานะ แตกต่างกัน ปัจเจกหรือกลุ่มบางกลุ่มมีสถานะ ความรู้ความชำนาญ สูงกว่า และกลุ่มที่ว่านี้คือกลุ่มที่เป็นผู้ใช้อำนาจในสังคมหรือเป็นรัฐบาลความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคมอนุรักษ์นิยมเป็นไปภายใต้ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างปัจเจกหรือกลุ่มในด้านอำนาจ สถานภาพ และการถือครองทรัพย์สิน แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคมถูกกำหนดและชี้นำโดย ค่านิยมดั้งเดิม จริยธรรมทางสังคม  ซึ่งเป็นบทบาทในการชี้นำของสถาบันทางสังคมเช่นครอบครัว  วัด หรือแม้แต่รัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่สื่อความหมาย หรือบังคับใช้ค่านิยมเหล่านั้น  เสรีภาพของปัจเจกชนในสังคมอนุรักษ์นิยมมีก็จริง แต่ไม่มีปัจเจกหรือกลุ่มใดๆมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะทำ อะไรตามใจได้ต้องตกอยู่ภายใต้ประเพณีแห่งสังคม ศาสนาและประเพณีเป็นที่มาแห่งการชี้นำสังคมมากกว่าความเป็นเหตุเป็นผลความเสมอภาคซึ่งปกติถูกมองในแง่ของที่มีอยู่ในธรรมชาติของสังคม   สำหรับอนุรักษ์นิยมแล้วการใช้อำนาจของรัฐบาลทั้งปวงเพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณี และจริยธรรมทางสังคม มีผลเป็นความเสมอภาคในสังคมเช่นเดียวกัน (Roskin, 2003: 96)
ในทัศนะของการเมืองอนุรักษ์นิยม อาจพิจารณาในรูปแบบของการกำหนดลักษณะของอนุรักษ์นิยมได้ดังนี้
(1)          การสนับสนุนความมีระเบียบวินัย (Discipline) ซึ่งหมายความว่ามีการตีกรอบการปฏิบัติเพื่อรักษาเสถียรภาพโดยวิธีการให้ยอมรับอำนาจในความชอบธรรมที่มีอยู่แล้วแต่เดิม (Traditional authority)  เช่น นับถือพวกเกิดในตระกูลเก่าที่รู้จักกันมาช้านาน ยอมรับในเรื่องเครื่องแบบและเหรียญตรา
(2)          การลงโทษบุคคลนั้นเป็น วิธีการที่จะขจัดความชั่วร้ายที่เป็นสันดานของมนุษย์ เพื่อให้หลาบจำ
(3)          การเน้นประสบการณ์มากกว่าเหตุผล หมายความว่า ไม่รับทฤษฎีทางวิชาการใหม่ๆ ที่ไกลตัวและมักจะเป็นพวกคิดช้า ไม่ก้าวกระโดด
(4)          ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ฉับพลัน และการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบสถานภาพเดิมอย่างมาก
(5)          ถือว่าความเสมอภาคเป็นอันตรายต่อ เสรีภาพ เมื่อทุกคนมีความเสมอภาคแล้วย่อมสามารถใช้เสียงส่วนใหญ่ หรือเสียงข้างมากในการจำกัดเสรีภาพของบุคคลได้ อเลคซิสต์ เดอ ทอคเกอวิลส์ (Alexis de Tocqueville) ให้ข้อคิดที่สำคัญ โดยให้ระวังเรื่อง ทรราชเสียงข้างมาก (Tyranny of majority) อันเกิดจากระบบความเสมอภาคอันเป็นลักษณะความเสมอภาคเชิงจำนวนเท่านั้น
(6)          อนุรักษ์นิยมสนใจความเป็นมาทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ การบังคับใช้มาตรฐานเดียวกันที่เป็นลักษณะสากล (universality)  โดยไม่พิจารณาถึงความเป็นมาของสังคมเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เช่นบางสังคมมีวัฒนธรรมจำกัดสิทธิสตรีในทางการเมือง เป็นต้น
(7)          สนับสนุนรัฐบาลในความเชื่อที่ว่ารัฐบาลเป็นผู้พิทักษ์และรักสาเสถียรภาพของสังคม

นอกจากนี้ อาจพิจารณาในด้านมิติของอนุรักษ์นิยมที่มีต่อสังคมได้อีกด้านหนึ่งของการศึกษา การแบ่งมิติออกเป็นสามส่วนคือ
(1)       มิติทางสังคม มีความเชื่อว่ามนุษย์ในสภาพธรรมชาติ มีความชั่วร้ายจึงต้องมีสัญญาระหว่างกันเพื่อจัดตั้งรัฐและรัฐบาล ซึ่งเป็นความเห็นของโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)
(2)       มิติทางสถาบัน สถาบันทางการเมืองต้องก่อตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความเป็นมาของสังคม การลอกเลียนแบบมาจากสังคมอื่นที่มีความเป็นมาที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
(3)       มิติทางการเมือง อนุรักษ์นิยมยึดถือนโยบาย ผลการปฏิบัติ (Pragmatic) คือเลือกในนโยบายที่ ปฏิบัติได้ มากกว่าที่สูงเกินความสามารถ   ไม่สนับสนุนการกระทำใดๆ อันละเมิดทรัพย์สินส่วนบุคคลและสนับสนุนการค้าเสรีเป็นต้น

2 เสรีนิยม (liberalism)   เป็นอุดมการณ์ที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกชนอย่างสูงยิ่ง โดยบทบาทของรัฐบาลควรจะได้ถูกจำกัด เช่น สถาบันที่อาจทำให้กระทบกระเทือนเสรีภาพ ได้แก่ รัฐ องค์การศาสนาและแม้แต่กองทัพ จะต้องถูกจำกัดอำนาจลง  อีกประการคือ เสรีนิยมเชื่อว่ามนุษย์โดยธรรมชาติมุ่งทำแต่สิ่งที่ดีมีหลัก สนับสนุนความเท่าเทียมกันในโอกาสและถือว่าค่านิยมบางอย่างถือเป็นสากลเช่นสิทธิมนุษยชน (Human rights)  อย่างไรก็ดี เสรีนิยมก็ยังยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องมีรัฐบาล เสรีนิยมอาจแบ่งออกได้เป็นสองแนวคิด เสรีนิยมดั้งเดิมที่เรียกว่า Classic liberalism ที่เน้นเสรีภาพ ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเอกชนโดยไม่จำเป็น ส่วนเสรีนิยมใหม่ ที่มีลักษณะคล้ายกับสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic socialism) คือยินยอมให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนในกิจการบางอย่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสาธารณประโยชน์ คุณภาพสินค้า และกิจการสวัสดิการแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้รวมถึงเสรีนิยมด้านเศรษฐกิจ (Economic liberalism) ซึ่งเราอาจพิจารณาแนวคิดของจอห์น ล็อค (John Locke) ในศตวรรษที่ 17 ได้ดังนี้

2.1 เสรีนิยมดั้งเดิม (Classical liberality) มีองค์ประกอบดังนี้
(1) การยอมรับ เสรีภาพของปัจเจกชน (Individualism) โดยรวม เช่น การเมือง เศรษฐกิจ และการเชื่อถือในลัทธิใดๆ ในเวลาเดียวกันจำกัดอำนาจของสถาบันทางการเมืองและสังคมทุกประเภทที่อาจทำให้กระทบต่อเสรีภาพ ส่วนบุคคล และในศตวรรษที่ 19 (จอห์น สจ็วต มิลล์) John Stuart Mill นักปราชญ์อังกฤษ ยืนยันว่ารัฐไม่อาจละเลยเสียงข้างน้อยแม้ว่าจะมีเพียงเสียงเดียว
(2) เคารพในเหตุผล (Rationalist) เชื่อว่าปัญหาในสังคมทั้งปวงแก้ได้ด้วยเหตุและผล โดยศึกษาให้ได้ความรู้ ความเข้าใจ และให้หลักเหตุผลในการแก้ปัญหา
(3) เชื่อในการเปลี่ยนแปลง (Change) เสรีนิยมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความก้าวหน้า ไม่ยึดติดอยู่ในค่านิยม 
(4)  เชื่อในหลักสิทธิมนุษยชน (Human rights) และหลักสากลของการให้โอกาสในความเสมอภาค

2.2 เสรีนิยมแนวใหม่ใหม่  (Neo-liberalism) เสรีนิยมใหม่เกิดในศตวรรษที่ 20 โดยมีแนวคิดไปในทางประชาธิปไตยสังคมนิยม เช่นยอมให้รัฐเข้ามาก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพของเอกชนได้ในกิจการที่เกี่ยวกับสาธารณะ และรัฐสามารถวางมาตรการควบคุมด้านเศรษฐกิจและแรงงานได้ด้วย อาจพิจารณาเสรีนิยมใหม่ในเนื้อหา ของเศรษฐกิจได้อีกด้วย เช่นรัฐบาลต้องสงเคราะห์ประชาชนในเรื่อง การประกันสุขภาพ  การจ่ายเงินทดแทนแรงงาน สนับสนุนองค์การกรรมกร การพิจารณาความเป็นธรรมในเรื่องภาษี เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเสรีนิยมแนวใหม่มุ่งในปัจจัยด้านเศรษฐกิจคู่ควบไปกับปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ (Non-economic liberalism)

3 สังคมนิยม (Socialism) เป็นอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่พึงพอใจทั้งในเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม  เชื่อว่าอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่รัฐบาลได้ใช้ก็เพื่อประโยชน์ของคนทุกหมู่เหล่าในสังคม  รัฐบาลจะต้องไม่ใช้วิธีรุนแรงเข้าดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการจัดการแรงงานและค่าจ้าง และการจัดสวัสดิการคนชราและคนว่างงานเป็นหน้าที่ของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนและสังคมในอุดมการณ์สังคมนิยมนั้นพบว่า รัฐมีหน้าที่ต้องประกันด้านคุณภาพการศึกษา ที่อยู่อาศัย การสาธารณสุข การมีงานทำและจัดการด้านการเงินในกรณีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน  สังคมนิยมอาจแบ่งออกได้เป็นสองแนวคิด แนวแรกเรียกว่า สังคมนิยมแบบอุดมคติ (Utopian socialism) แนวคิดนี้มีความเชื่อว่าถ้าสังคมเพียบพร้อมและนำความสุขมาให้สมาชิกในสังคมได้เท่าเทียมกันแล้ว สมาชิกในสังคมจะไม่แข่งขันแก่งแย่งกันในการถือครองปัจจัยการผลิต ดังนั้น รัฐจึงควรให้ประชาชนทุกคนถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกันและร่วมใจกันประกอบกิจการร่วมกัน รวมถึงการจัดสรรประโยชน์จึงเป็นอันว่ากรรมสิทธิ์ส่วนตัวเป็นอันยกเลิกไปทั้งสิ้นและไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม  สำหรับแนวคิดที่สองคือ สังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic socialism)  เชื่อว่าการแข่งขันระหว่าสมาชิกในเชิงเศรษฐกิจในสังคมจะหมดไปโดยรัฐเข้าควบคุมกิจการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเสีย นอกจากนั้นประชาชนคงยังมีเสรีภาพ  เสมอภาคในสังคมเช่นเดิม  แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย (Baradat, 1997: 92)
3.1 สังคมนิยมอุดมคติ (Utopia) โทมัส มอร์ (Thomas More) ผู้เขียนรัฐในอุดมคติ (Utopia, 1561) กล่าวว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน ทำงานร่วมกัน แม้แต่แต่งกายเหมือนกัน ผู้แต่งงานแล้วมีเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจน ทุกคนในรัฐไม่ใช้ของฟุ่มเฟือย หรือเครื่องประดับ ผู้ที่เห็นด้วยกับความคิดของมอร์ (More) เช่น ฟานซิสต์ เบคอน (Francis Bacon) ชังค์ ฌาคซ์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ทั้งหมดนี้สนับสนุนการไม่มีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนตัว และต่อต้านการเอารับเอาเปรียบคนยากจน แสวงความรู้ในการจัดสังคมที่เหมาะสม นับได้ว่ายากที่จะปฏิบัติได้จริงนอกจากเป็นเพียงรัฐในอุดมคติเท่านั้น
3.2 สังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic socialism) แนวคิดนี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1883 ในประเทศอังกฤษ จอร์จ เบอร์นาต ชอว์ (George Bernard Shaw)  เฮช จี เวลส์ (H.G.Wells) และ ซิดนี่ย์ เวบาร์ (Sidney Webba) เป็นสมาชิกสำคัญของสมาคม สังคมนิยมเฟเบียน (Fabian Socialism) ลักษณะที่สำคัญคือ การเข้ามีส่วนร่วมในกิจการสำคัญของรัฐโดยใช้วิธีออมชอม และจัดสวัสดิการต่างๆให้แก่กรรมกร ในที่สุดก็สามารถรวบรวมกันจัดตั้งพรรคเลเบอร์ขึ้นในอังกฤษ (Labor Party) อังกฤษได้นำแนวความคิดนี้มาใช้โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในยุคต่างๆ เช่น การจัดสวัสดิการคนชราและอื่นๆ เช่นเดียวกับแนวนโยบายของรัฐบาลในกลุ่มประเทศสแกนดิเนียเวีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสวีเดน ซึ่งนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาสังคมที่เรียกว่า รัฐสวัสดิการ ส่งผลต่อฐานะความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ความสำเร็จในการนำแนวนโยบายสวัสดิการดังกล่าวทำให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศโลกที่สามที่พยายามนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน

4 อำนาจนิยม (authoritarianism) 
อุดมการณ์นี้เชื่อว่ารัฐบาลต้องเข้ากำกับดูแลพฤติกรรมของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จและเพื่อความมั่นคงของรัฐ จะต้องสอดส่องโดยสงสัยว่าประชาชนจะคิดร้ายต่อรัฐ เข้าแทรกกิจการของเอกชนโดยถือว่ารัฐคือองค์การที่ใหญ่กว่าบุคคล เหนือกว่าบุคคล  ต้องมีคุณภาพดีกว่า ถูกต้องกว่าเสมอ อำนาจนิยมนี้มีทั้งซ้ายและขวา อำนาจนิยมฝ่ายขวา เรียกว่า ฟาสซิสต์ (Fascism) อำนาจนิยมฝ่ายซ้ายเรียกว่า คอมมิวนิสต์ (Communism) ลักษณะของอำนาจนิยมพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ เช่น เน้นเรื่องชาตินิยม เน้นความมั่นคงด้านการทหาร  เน้นสถานการณ์ทียังไม่เหมาะสมที่จะเป็นประชาธิปไตย เน้นอำนาจเด็ดขาดของผู้นำ เน้นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมและเน้นความเป็นกลางในกิจการระหว่างประเทศ (Roskin, 2003: 96-100)

5 อุดมการณ์ทางการเมืองในวันนี้ (Ideology in Our Day)
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศยุโรปตะวันออก และอดีตประเทศสหภาพโซเวียต  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ทางการเมืองขนานใหญ่  บรรดาผู้นำของประเทศทั้งหลายในโลกคอมมิวนิสต์ ต่างเริ่มคิดว่าระบบเศรษฐกิจอาจแข็งตัวเกินไป วิธีการลดระดับการควบคุมของรัฐ การเปิดเสรีทางการลงทุน เริ่มมีบทบาทขึ้น โดยนายมิคคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) อดีตประธานาธิบดีประเทศสหภาพโซเวียต ได้นำแนวคิด ที่เรียกว่า สามง่าม (A three-pronged) เพื่อความเข้มแข็งของอดีตสหภาพโซเวียต นโยบายดังกล่าวประกอบด้วย (1) การเปิดเผยปัญหา (Publicizing problems = Glasnost) (2) การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Economic restructuring=perestroika) และ (3) การทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization=domokratizatzia) นอกจากอดีตประเทศสหภาพโซเวียตแล้วในประเทศยุโรปตะวันออก มีพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเกิดปัญหาทางการเมืองอย่างรุนแรงโดยที่อดีตประเทศสหภาพโซเวียต ได้ยุติลงปลายปี ค.ศ. 1991
5.1 อนุรักษ์นิยมแนวใหม่  (Neo-Conservatism) ในช่วงทศวรรษที่ 1970  แนวความคิดใหม่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา  เรียกว่า อนุรักษ์นิยมแนวใหม่  หมายความว่า เป็นเสรีนิยมที่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องของความเป็นจริง  (Roskin, 2003 : 108) พวกอนุรักษ์นิยมแนวใหม่ได้แสดงความคิดเห็นว่าพรรคเดโมแครทได้ดำเนินนโยบายการทางการเมืองไปในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริงทั้งในและต่างประเทศ  และการเงินได้ถูกใช้ไปในสงครามเวียต นานมากเกินกว่าที่จะขยายชุมชนตามนโยบาย “The Great Society”ได้ ลักษณะของอนุรักษ์นิยมแนวใหม่อีกประการก็คือ พิจารณาสิ่งแวดล้อมทางการเมือง  เศรษฐกิจ และสังคมสิ่งแวดล้อมโดยรอบคอบทุกภาคส่วนของสังคม
5.2 ลัทธิเสรีนิยม (Libertarianism) แนวคิดนี้มาจาก Adam Smith และพัฒนามาเป็นพวกที่เรียกว่า พวกเสรีนิยมแนวใหม่ (Neo-Libertarianism) โดยต้องการควบคุมระบบเศรษฐกิจทั้งหมดและปล่อยเสรีส่วนบุคคล สำหรับพวกอนุรักษ์นิยมแนวใหม่ต้องการเศรษฐกิจเสรีและควบคุมเสรีส่วนบุคคล ฝ่ายสนับสนุนความเป็นเสรีนิยมเห็นว่าควรรวมทั้งสองแนวเข้าหากันและแนวคิดของความเป็นเสรีนิยมคือลดระดับอำนาจของรัฐบาลและปล่อยเสรีส่วนบุคคลนั่นเอง
5.3 สตรีนิยม  (Feminism)  แนวคิดความเสมอภาคในเรื่องจิตวิทยา เศรษฐกิจ และการเมืองของสตรี  ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ขบวนการสตรีเป็นกำลังทางการเมืองที่เข้มแข็งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก ปัญหาเกิดจากจิตวิทยาในเรื่องความเป็นผู้ชาย และความเป็นผู้หญิง และในที่สุดขณะนี้พบว่าสังคมได้ให้ความเท่าเทียมกันในโอกาสของเพศหญิงมากขึ้น เช่น สามีทำงานบ้านและดูแลลูกด้วย เป็นต้น ส่วนเพศหญิงโอกาสในการดำรงตำแหน่งสูงทางราชการหรือการเมืองมากขึ้นและในทางการเมือง สตรีเพศออกเสียงลงคะแนนให้พรรคเดโมแครทโดยเฉพาะโหวตให้บิลส์ คลินตัน (Bill Clinton) ชนะถึงสองครั้ง พัฒนาการของกระแสสตรีนิยมปรากฏผลในการช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในปี ค.ศ.2008 โดยเป็นการแข่งขันระหว่างตัวแทนพรรคในเวลานั้นระหว่างโอบามา (Obama)จากพรรคเดโมแครต (Democrat Party)  และนายจอห์น แมคเคน (John McCain) แห่งพรรครีพับรีกัน (Republican Party) ซึ่งในช่วงท้ายของการหาเสียงนายจอห์น แมคเคน ได้เลือกนางเพ ริน (Pa Lin)เป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของตนเองหากประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยต้องการได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มสตรีซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของตนและพรรครีพับรีกัน ในขณะที่ได้โอบามามีนางฮิลลารี (Hilary) ซึ่งเป็นผู้ที่มีเสียงสนับสนุนจากกลุ่มสตรีจำนวนมากจากพรรคเดียวกันและเคยเป็นอดีตผู้สมัครตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตเป็นผู้สนับสนุน ผลปรากฏว่านายโอบามา ประสบชัยชนะได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา
5.4 อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนิยม (Environmentalism) แนวคิดเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแพร่หลายมากขึ้นจนกลายเป็นสากลทั่วโลกจนในที่สุดทราบว่ามีการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยมีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในยุโรปตะวันตกมีพรรค Green และพรรค Citizen สำหรับพรรค Green ได้รับเลือกเข้าสภาและมีนโยบายหยุดยั้งอำนาจนิวเคลียร์ เป็นต้น
5.5 อิสลามนิยม  (Islamism) เป็นแนวคิดที่นำเอาศาสนาอิสลามมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง เกิดครั้งแรกในการปฏิวัติอิหร่าน ปี ค.ศ.1979 โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการทุจริตของรัฐบาล และการปกครองที่ล้มเหลว ส่งผลให้ประชาชนเกิดการว่างงานอย่างรุนแรง แนวคิดกระบวนการอิสลามนิยมนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ประชาคมประเทศมุสลิม และแพร่ขยายออกไปทั่วโลกในเวลาต่อมา  แต่ปัญหาการเข้าร่วมในขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ การทำลายล้างอิทธิพลของอเมริกันและบางประเทศในยุโรป เป็นความผิดพลาดและทำให้ศาสนาอิสลามได้ลดความนิยมลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศมุสลิมบางประเทศ อาทิ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น ได้ทำการต่อต้านกระบวนการ  อิสลามนิยม (Islamism) ที่ถือว่าผิดว่าผิดหลักการทางศาสนาดังกล่าว

6 สรุป
ผลจากการติดตามแนวความคิดของนักวิชาการทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) บางกลุ่ม พบว่า อุดมการณ์ทางการเมืองน่าจะถึงจุดสมบูรณ์ (Finish) แล้ว โดยอ้างแนวคิดของเฮเกล (Hegel) ว่า เสรีชนได้อยู่ในสังคมเสรีแล้ว (Free people living in free societies) จึงไม่มีการต่อสู้กันในด้านอุดมการณ์ทางการเมืองอีกต่อไป แนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาอธิบายถึงกรณีการล่มสลายของอดีตประเทศสหภาพโซเวียตได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้การล่มสลายของประเทศแม่แบบอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างสหภาพโซเวียตจะทำให้แนวคิดของมาร์กซิสต์ (Marxism) ต้นแบบล่มสลายไป ในทางตรงกันข้ามแนวคิดโซเชียลลิสต์ (Socialist) ยังคงมีอยู่ในกลุ่มของบรรดานักนิยมสังคมนิยม แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังมีอยู่ สำหรับสิ่งที่ท้าทายความสมบูรณ์ของอุดมการณ์ก็คือ การเกิดใหม่ของแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ เช่น นีโอฟาสซิสต์ (Neo-Fascism) อิสลามิคนิยม (Islamism) รวมถึงแนวประชาธิปไตย (Democracy) โดยทั้งหมดต่างก็มีความหลากหลายในอุดมการณ์ เช่น การตลาดเสรีหรือบทบาทการแทรกแซงรัฐ  และระบบการสวัสดิการ  เป็นต้น